วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เรียนรู้ในบริบทจริงจากการสัมภาษณ์เทียบเคียงพัฒนาการ

ครั้งที่3

         จากการสัมภาษณ์และวิเคราะห์พัฒนาการพบความแตกต่างของความสามารถในการใช้ภาษา
ซึ่งมีปัจจัยที่แตกต่างกันเช่น การอบรมเลี้ยงดู ประสบการณ์ทางภาษา การเรียนการสอนที่โรงเรียน
          นักศึกษาได้ใช้ความสามารถในการแก้ปัญหาของเด็กที่แตกต่างกัน
          นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
          นักศึกษาได้สร้างสรรค์วิธีการนำเสนอที่แปลกและหลีกหนีวิธีการเก่าๆแม้จะยุ่งยากแต่ได้มีโอกาสเรียนรู้

                             มนุษย์ใช้การสื่อสารระหว่างกันด้วยวิธีการหลายรูปแบบ วิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การใช้ภาษาพูดและภาษาเขียน การพัฒนาทักษะการใช้ภาษาดังกล่าว จะช่วยให้เด็กเข้าใจ เรียนรู้สิ่งต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น ตลอดจนการแสดงออกถึงความต้องการการส่งและรับข่าวสาร การแสดงออกถึงความรู้สึกและการเข้าใจผู้อื่น
                       เด็กเรียนการฟังและการพูด โดยไม่ต้องอาศัยการสอนอย่างเป็นทางการ การที่
          เด็ก ได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางภาษา จะทำให้เด็กเข้าใจ และใช้ไวยากรณ์พื้นฐานของ
          ภาษาแม่ เมื่ออายุได้สี่หรือห้าปี



7 ขั้นตอนพัฒนาการทางภาษาของเด็ก
โลแกน และโลแกน ( 1974 อ้างอิงจาก อารยา  สุขวงศ์. 2533 :107-109)
1.ระยะเปะปะ (Random Stage)
                       อายุตั้งแต่แรกเกิด-6 เดือน ในระยะนี้จะพบว่า      เด็กทารกมีการเปล่งเสียงอย่างไม่มีความหมาย การเปล่งเสียงของเด็กเป็นการบ่งบอกให้ผู้ใหญ่  รับรู้ถึงความต้องการของเด็ก เด็กจะส่งเสียงเมื่อไม่สบายตัว เมื่อเจ็บปวด เมื่อถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว แม้กระทั่งความรู้สึกที่เป็นสุข การเปล่งเสียงทำให้เด็กได้รับการตอบสนองจากผู้เลี้ยงดู และ   เมื่ออายุ 6 เดือน เสียงของเด็กจะเริ่มชัดเจน เรียกเสียงที่เปล่งในระยะนี้ว่าเสียงอ้อแอ้ ที่เรียกกันว่าเริ่มคุยแต่ยังไม่สามารถสื่อให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ในช่วงนี้เป็นระยะที่ควรสนับสนุนการพูดของเด็กโดยการพูดคุยด้วย เด็กที่สุขภาพดี มีการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด มีคนพูดคุยด้วย จะมีโอกาสพัฒนา ทางภาษาได้ดีกว่าเด็กที่เจ็บป่วยหรือถูกทอดทิ้ง  
2.ระยะแยกแยะ (Jergon State)
                           อายุ 6 เดือน-1 ปี ในระยะนี้ เด็กจะเริ่มแยกแยะเสียง ที่เขาได้ยินในสิ่งแวดล้อม เช่น เสียงพูดคุยของแม่หรือผู้ให้การเลี้ยงดู เด็กจะแสดงลักษณะของการหยุดฟัง และแสดงอาการจดจำเสียงที่ได้ยินได้ เด็กจะรู้สึกพอใจถ้าหากเปล่งเสียแล้วได้รับการตอบสนองในทางบวก เช่น การพูดคุยด้วยหรือการแสดงอาการยิ้มแย้ม เด็กจะเปล่งเสียงเหล่านั้นซ้ำๆ อีก ในบางครั้งเด็กจะทำเสียงตามเสียงที่พูดคุยด้วย
3.ระยะเลียนแบบ (Imitaion Stage)
                     อายุ 1-2 ปี เสียงที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเสียงของคนที่ใกล้ชิด เป็นเสียงที่เด็กวัยนี้สนใจและเริ่มเลียนแบบ เสียงที่เปล่งขึ้นของเด็ก จะเริ่มมีความหมายและแสดงกิริยาตอบสนองการได้ยินเสียงของผู้อื่น นักภาษาศาสตร์ถือว่า เป็นขั้นตอนที่แสดงถึงพัฒนาการทางภาษาอย่างแท้จริงของเด็ก
4.ระยะขยาย (The Stage of Expansion)
                2-4 ปี เด็กจะเริ่มหัดพูดโดยเปล่งเสียงออกมาเป็นคำๆ ระยะแรกจะเป็นการพูดโดยเรียกชื่อคำนามออกชื่อคนที่อยู่รอบข้าง สิ่งของต่างๆ    ที่อยู่ใกล้ตัว รวมทั้งคำคุณศัพท์ที่เด็กได้ยินผู้ใหญ่พูดกัน ความสามารถในการพูดของเด็กอายุ 2-4 ปี มีดังนี้
         อายุ 2 ปี เริ่มพูดเป็นคำและสามารถใช้คำที่เป็นคำนามได้ถึงร้อยละ 20
         อายุ 3 ปี เด็กจะเริ่มพูดเป็นประโยคได้
         อายุ 4 ปี เริ่มใช้คำศัพท์ต่างๆ ได้กว้างขวางขึ้น สามารถใช้คำขึ้นต้นหรือคำลงท้าย    อย่างที่ได้ยินผู้ใหญ่ใช้
        5.ระยะโครงสร้าง (Structure Stage)
                          อายุ 4-5 ปี การรับรู้และการสังเกตของเด็กวัยนี้ดีขึ้นมาก ซึ่งทำให้เด็กได้สังเกตการณ์ใช้ภาษาของบุคคลที่อยู่รอบข้างและนำมาทดลองใช้ประสบการณ์ที่เด็กได้รับ เช่น จากการฟังนิทาน ดูรายการวิทยุโทรทัศน์ การเล่นกับเพื่อน หรือพี่น้อง การพูดคุยกับผู้ใหญ่ ล้วนแล้วแต่เป็นการช่วยให้เด็กเก็บข้อมูลทางภาษาให้เพิ่มมากขึ้น        เด็กจะรู้สึกเล่นสนุกกับคำ คิดสร้างคำและประโยคด้วยตนเอง โดยจดจำคำหรือวลีตลอดจนประโยคที่ได้ยินมา
6.ระยะตอบสนอง (Responding Stage)
             อายุ 5-6 ปี การพัฒนาทางภาษาของเด็กวัยนี้จะเริ่มสูงขึ้น เพราะเด็กจะเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาล เด็กได้พัฒนาคำศัพท์เพิ่มขึ้น รู้จักการใช้ประโยชน์อย่างเป็นระบบตามหลักไวยากรณ์ การใช้ภาษาจึงเป็นภาษาที่มีแบบแผนมากขึ้น ภาษาของเด็กจะใช้สำหรับการสื่อสารที่ให้ความหมาย และเพื่อแสดงให้ผู้รับรู้ถึงสิ่งที่เขามองเห็นหรือรับรู้  
 7.ระยะสร้างสรรค์ (Creative Stage)
                อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป เด็กจะพัฒนาความสามารถทางภาษาได้สูงขึ้น สามารถจดจำสัญลักษณ์ทางภาษาได้มากขึ้น สำหรับด้านการพูด สามารถ ใช้ถ้อยคำที่เป็นสำนวนหรือคำที่มีความหมายลึกซึ้งได้ เด็กจะพัฒนาวิเคราะห์และสร้างสรรค์ทักษะทางภาษาได้สูงขึ้น ใช้ภาษาพูดที่เป็นนามธรรมมากขึ้นด้วย การสื่อสารในขั้นตอนนี้ จะเป็นการแสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิดของเด็ก
เนสเซล และคณะ (Nessel and Other. 1989) ได้อ้างถึงผลงานวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการทางภาษาของเด็กว่าประกอบด้วยขั้นตอนต่อไปนี้ คือ
ขั้นแรกเริ่ม (Prelanguage)
             เด็กอายุ 1-10 เดือน จะมีความสามารถจำแนกเสียงต่างๆ ได้ แต่ยังไม่มีความสามารถควบคุมการออกเสียง เด็กจะทำเสียงอ้อแอ้หรือเสียงที่แสดงอารมณ์ต่างๆ เด็กจะพัฒนาการออกเสียงขึ้นเรื่อยๆ จนใกล้เคียงกับเสียงในภาษาจริงๆ มากขึ้นตามลำดับ            เรียกว่า เป็นคำพูดเทียม (Pseudoword) พ่อแม่ที่ตั้งใจฟังและพูดตอบ จะทำให้เด็กเพิ่มความสามารถในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น
ขั้นที่ 1 (10-18 เดือน)
              เด็กจะควบคุมการออกเสียงคำที่จำได้ สามารถเรียนรู้คำศัพท์             ในการสื่อสารถึงห้าสิบคำ คำเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับสิ่งของ สัตว์ คน หรือเรื่องราวในสิ่งแวดล้อม การที่เด็กออกเสียงคำหนึ่งคำหรือสองคำ อาจมีความหมายรวมถึงประโยคหรือวลีทั้งหมด การพูดชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า Holophrastic Speech
ขั้นที่ 2 (18-24 เดือน)
                    การพูดขั้นนี้จะเป็นการออกเสียงคำสองคำ และวิธีสั้นๆมีชื่อเรียกว่า Telegraphic Speech คล้ายๆ กับการโทรเลข คือ มีเฉพาะคำสำคัญสำหรับสื่อความหมาย เด็กเรียนรู้คำศัพท์มากขึ้นถึงสามร้อยคำ รวมทั้งคำกริยาและคำปฏิเสธ เด็กจะสนุกสนานกับการพูดคนเดียวในขณะที่ทดลองพูดคำ และโครงสร้างหลายๆ รูปแบบ
ขั้นที่ 3 (24-30 เดือน)
                     เด็กจะเรียนรู้ศัพท์เพิ่มขึ้นถึง 450 คำ วลีจะยาวขึ้น พูดประโยคความเดียวสั้นๆ มีคำคุณศัพท์รวมอยู่ในประโยค
    ขั้นที่ 4 (30-36 เดือน)
                     คำศัพท์จะเพิ่มมากขึ้นถึงหนึ่งพันคำประโยคเริ่มซับซ้อนขึ้น เด็กที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมพัฒนาการทางภาษา จะแสดงให้เห็นถึงความเจริญงอกงามทางด้านจำนวนคำศัพท์ และรูปแบบของประโยคอย่างชัดเจน
ขั้นที่ 5 (36-54 เดือน)
                  เด็กสามารถสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในครอบครัวและ  ผู้คนรอบข้าง จำนวนคำศัพท์ที่เด็กรู้มีประมาณสองพันคำ เด็กใช้โครงสร้างของประโยคหลายรูปแบบ เด็กจะพัฒนาพื้นฐานการสื่อสารด้วยวาจาอย่างมั่นคง และเริ่มต้นเรียนรู้ภาษาเขียน
ซีฟีลท์ (Seefeldt. 1986) ได้กล่าวถึงการเรียนภาษาระดับพื้นฐานของเด็กไว้ 5 ระดับ ดังนี้
การสร้างประโยค (Syntax)
                    เด็กเรียนการสร้างประโยคหรือไวยากรณ์ ในขณะที่เด็กเริ่มนำคำมาสร้างเป็นประโยค เด็กจะเข้าใจโครงสร้างไวยากรณ์ เมื่อเด็กเข้าใจประโยคที่มีคำจำนวนมาก เมื่ออายุสองปีถึงสามปี เด็กจะพูดประโยคความเดียวชนิดต่างๆ ได้ เช่น ประโยคคำสั่ง ประโยคปฏิเสธ ประโยคคำถาม เด็กจะใช้ประโยคที่มีคำเชื่อม หรืออเนกรรถประโยคได้เมื่ออายุ ห้าถึงเจ็ดปี และเด็กจะใช้คำนาม สรรพนาม ได้อย่างถูกต้อง เมื่ออายุประมาณเจ็ดปีจึงจะใช้ประโยคหลายความ หรือสังกรประโยคได้
•                   ความหมาย (Semantics)
                    ในขณะที่เด็กเรียนเสียงและโครงสร้างของภาษา เด็กจะเรียนรู้ด้วยว่าคำจะมีความหมายขึ้นอยู่กับปริบท (Context) ของการใช้คำนั้นด้วย กระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ความหมาย เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน และสัมพันธ์กับขั้นตอนพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจท์
                    กล่าวคือ ในขั้นประสาทสัมผัส เด็กจะใช้คำพูดคำเดียวแทนประโยคทั้งประโยค ความหมายของคำขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของการใช้คำ เช่น เด็กกำลังเดินหาพ่อ และพูดว่า พ่อ มีความหมายว่า พ่ออยู่ไหน เมื่ออายุสองถึงเจ็ดปี หรือขั้นก่อนปฏิบัติการ เด็กจะแยกคำออกจากประโยค พร้อมกับใส่ความหมาย ซึ่งสัมพันธ์กับการกระทำที่เป็นรูปธรรม คำว่า บ้าน อาจหมายถึง สถานที่พ่อแม่ แมว และตัวเองอาศัยอยู่ เด็กจะเริ่มตระหนักถึง  ความไม่ชัดเจน หรือความยืดหยุ่นของภาษา แต่เด็กจะเข้าใจต่อเมื่อเด็กมีประสบการณ์รูปธรรมเท่านั้น เมื่ออายุเจ็ดถึง สิบเอ็ดปี ซึ่งเป็นขั้นปฏิบัติการรูปธรรม เด็กจะเข้าใจความหมายได้ดียิ่งขึ้น แต่ก็ต้องการประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมอยู่ เด็กอาจอธิบายคำว่า บ้าน ว่าหมายถึง สถานที่ สำหรับนอน รับประทานอาหาร และให้เพื่อนมาเยี่ยม
•                   การใช้ภาษา (Pragmatics)
                เด็กจะเรียนรู้การใช้ภาษาอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เด็กอยู่ เด็กที่ย้ายสถานที่ไปอยู่ที่ใหม่ก็จะเรียนรู้ภาษาของสังคมใหม่นั้น
•                   สรุปได้ว่า
                    การเรียนภาษาเป็นกระบวนการต่อเนื่อง เด็กเล็กจะเรียนภาษาพูดและกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งเสียงคำ ประโยค ความหมาย และการนำไปใช้ในขณะที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ ในสิ่งแวดล้อม เด็กจะเปลี่ยนและปรับปรุงการเรียนภาษาของตนเมื่อเข้าเรียนในโรงเรียน  แต่การเรียนภาษาระดับพื้นฐานนั้นจะถูกสร้างขึ้นก่อนหน้านั้น
บราวน์ และคณะ (Brown and Other. อ้างอิงจาก Lindfors. 1980)
       ขั้นแรก    เป็นขั้นสองคำ (the two-word stage) หรือขั้นโทรเลข เพราะหน่วยคำที่เด็กพูดเป็นคำ ที่มีความหมายหนักแน่นคล้ายๆ กับคำที่ใช้ในโทรเลข
        ขั้นที่สอง   เด็กจะใช้หน่วยคำทางหลักภาษา มีคำที่เชื่อมต่อกัน และการขยายคำเพิ่มมากขึ้น
        ขั้นที่สาม   เด็กจะใช้ประโยคบอกเล่า ประโยคปฏิเสธ ประโยคคำถาม และประโยคคำสั่ง ลักษณะของประโยคเหล่านี้จะพัฒนาต่อไปจากขั้นที่สามต่อไปอีกนาน







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น